MACD ถูกสร้างมาจากเส้นค่าเฉลี่ย ma นิยมใช้ ema ในการคำนวน เส้น ema เป็นยังไงลองกลับไปอ่านบทความเก่าเรื่อง ma ได้นะครับ เส้นนี้เป็นการให้น้ำหนักกับ ช่วงใกล้กับวันปัจจุบันมากกว่านั้นเอง
ในการคำนวนหา MACD นั้นจะเป็นการใช้เส้น ema 2 เส้น เส้นยาวกับเส้นสั้น มาลบกัน ถ้าได้น้อยกว่า 0 ก็คือ เส้นสั้นอยู่ใต้เส้นยาว ยิ่งมากยิ่งแสดงว่ามันเป็นขาลงมาก ในกรณีขาขึ้นก็ตรงกันข้ามกันไปครับ เส้นค่าเฉลี่ย ที่นำมาใช้หา MACD มักจะใช้ เส้น ema 12 เป็นเส้นสั้น และ ema 26 เป็นเส้นยาว (เราจำเป็นต้องปรับเป็นอย่างอื่นไหม จะปรับก็ได้แต่ใช้ที่คนอื่นเขาใช้ดีกว่า เพราะเราจะใช้ดูคนอื่นว่าเขาคิดยังไง ไม่ได้ใช้ดูความอินดี้ในใจเรา ถ้าใช้เส้นที่สั้นหรือยาวขึ้น ความเร็วของการบอกก็จะสั้นยาวตามกันไปครับ)
เจ้า MACD Moving Average Convergence / Divergence จึงเป็นส่วนผสมของ ราคา กับ เวลา มันจะบอกว่าราคา ในช่วง 12 แท่งเทียน ล่าสุด เทียบกับ ราคาในช่วง 26 แท่งเทียนล่าสุดนี้ มีลักษณะอย่างไร
ถ้า MACD อยู่ต่ำกว่า 0 ก็หมายความว่า ในช่วง 26 แท่งเทียนที่ผ่านมา 12 แท่งล่าสุด มันลงต่ำลงกว่า 14 แท่งก่อนหน้านั้น นั้นก็คือขาลงนั้นเอง
แล้วถ้ามากกว่า 0 ละ ก็หมายถึง 12 แท่งล่าสุด มันมีลักษณะราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 14 แท่งก่อนหน้านั้น มันก็คือช่วงนี้เป็นช่วงขาขึ้นนั้นเอง
ทำไมต้องมาเข้าใจตรงนี้ ก็เพื่อจะได้เห็นว่า MACD มันไมได้มีมิติเพียงแต่ ราคาหุ้นเพิ่มลดเท่านั้น มันยังรวมเอามิติของ เวลาเข้ามาด้วย โดยให้ความสำคัญ กับ ช่วงเวลาใกล้ๆ ล่าสุดมากกว่า ตรงนี้ ทำให้เราคิดได้ว่า ถ้าเราเอา MACD ของตอนนี้ ไปเปรียบเทียบกับ MACD เมื่อ3ปีก่อน ในกราฟ day ที่ ช่วงของเส้น ema ที่เอามาทำ MACD นี่ไม่ครอบคลุมมันเหมาะสมไหม หลายๆคนเอา MACD ของหลายปีก่อนโน้น ซึ่งนานมาก มาเทียบกับ MACD ปัจจุบัน ซึ่งต้นกำเนิดของข้อมูลมันคนละเรื่องกันเลย มันก็พลาด ผลที่ได้ไม่ตรง ทั้งนี้ทั้งนั้น มันขึ้นอยู่กับ Time Frame ที่เราใช้ด้วยนะครับ
ถ้า Time frame day MACD 1 ค่า อาจจะครอบคลุมเวลาแค่ 26 วันหรือ 1 เดือน แต่ถ้าเป็น Time frame week มันก็จะครอบคลุม เวลาถึงครึ่งปี ตรงนี้ตีให้แตกจะได้เอาไปใช้ถูก เช่น ถ้าคุณ ดูที่ Time frame 120 นาที เห็น divergence จะไปหวังว่ามันจะกลับตัวทั้งเทรนด์ในรอบเป็นเดือน อันนี้ก็จะพลาดเป็นต้นครับ
เข้าใจนิยาม เรื่อง MACD แล้วว่าสร้างมาจาก ราคาบนกราฟ และเวลา สิ่งนี้แหละที่เราเรียกว่า MOMENTUM มันคือความเร่งของราคา ไอ้ความเร่งนี้ถ้าใครเรียน ฟิสิกข์มาเมื่อมอปลาย มันก็คือ เกี่ยวกับ เวลาและมวลของมัน มวลที่ว่านี้ จะไปได้เร็วแค่ไหนก็ต้องมีแรงนั้นเอง แรงในหุ้น ก็คือ ความอยากของคนดูได้จากไหน ก็จากโวลุ่มนั้นเองครับ แล้วต่อไปเรามาดูกันว่าจะใช้ MACD ยังไง
คำตอบก็คือ ใช้เพื่อเช็คการกลับตัวของหุ้น ตรงส่วนนี้ถ้าใช้ร่วมกับ Elliot wave จะยิ่งทำให้การเทรดของเรารัดกุมมากยิ่งขึ้น เพราะ ใน Elliott wave เรารู้ว่าหุ้นจะขึ้นไปเป็น wave ต่อไป แต่เราไม่รู้แน่ชัดได้ว่าเมื่อไหร่มันจะขึ้นจบ
ให้ใช้ MACD ประกอบ จับตาเช็คเวลาที่ ราคาทำ new hi หรือ new low ดังนี้ สมมุติว่าราคาเป็นเทรนด์ขาขึ้นตามรูป
ช่วงเวฟ 1 ที่เป็นกรอบสีเหลือง เราจะสังเกตุเห็นว่า MACD ได้พุ่งขึ้นสูงมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ขึ้นเหนือ 0 มา หลังจากนั้นราคาเริ่มหมดกำลังลง ถ้าเราดูกราฟใน Time Frame ที่สั้นลงช่วงนี้จะเห็น สัญญาน bearish divergence ระยะสั้น แน่นอนว่าเมื่อเห็น bearish divergence ระยะสั้น ก็ต้องคิดกรอบเวลาให้ถูกว่ามันจะย่อใหญ่หรือเล็ก ตามที่เขียนข้างบนนะครับ
ในส่วนเวฟ 1 นี้ คนส่วนมากยังไม่ทันเข้าหรอก มักจะจับตาดู หลังจากราคาขึ้นไปเหนือเวฟ 1 ถึงได้เข้า ถ้าเราเจออะไรแบบเวฟ 1 นี้ก็ให้เตรียมจับตาเลย VOLUME มาเมื่อไหร่ ก็เตรียมกระโดดเข้า
ทีนี้เรามาดูเวฟ 3 กันต่อตรงส่วนนี้ในกรอบสีเขียว จะเห็นว่าราคาขึ้นไปแบบรุนแรง สังเกตุ MACD ก็พุ่งขึ้นเช่นกัน โดยที่พุ่งสูงกว่าเวฟ 1 อันนี้จะเป็น อาการปกติของ เวฟ3 คนจะมั่นใจมาก ราคาจะขึ้นแรง Volume มักจะเยอะ ตรงนี้เราเข้าจะถือเป็นจังหวะที่ดี เมื่อราคาไปถึงยอดเวฟ 3 แล้วในระยะสั้นจะเกิด bearish divergence เช่นเคยเป็นเหตุให้มีการย่อเพื่อทำเวฟ 4
แต่ระยะยาว เราจะเห็นว่าระหว่างเวฟ 1 กับ 3 MACD ยกสูงตามราคาที่ทำยอด New Hi .ใหม่นั้นบ่งบอกถึงสัญญาน Bullish Convergence ซึ่งก็คือ ลงรอบนี้ จะมีการเด้งที่ อย่างน้อยน่าจะถึง ยอด เวฟ 3 เดิม หรือทำ New Hi ใหม่นั้นเอง
หลังจากนั้นราคาก็เดินทางไปสู่ เวฟ 5 ตรงนี้สำคัญมาก เมื่อเข้าสู่เวฟ 5 ถ้าคุณไม่มีหุ้น ก็ไม่ควรจะไปแตะมันอีกแล้ว แต่ถ้าคุณมีหุ้นที่ซื้อมาตั้งแต่เวฟ 1 3 ตอนนี้เป็นเวลาที่คุณต้องหาจังหวะ ออกของ
ในช่วงเวฟ 5 ลองสังเกตุ ดูที่ MACD ครับ ในกรอบสีแดงที่ล้อมไว้ คุณจะเห็นว่า MACD มันจมน้ำ ลงไปพอเงยหน้าขึ้นมาหน่อยก็จมลงอีก แต่ราคา กลับวิ่งขึ้นสวน เมื่อเจอแบบนี้ ถามว่าให้ขายเลยหรือไม่ คำตอบคือไม่ แต่ต้องระวังให้หนัก ตอนนี้จะใช้เทรนด์ไลน์ หรือ ema ในการกำหนดขายก็ได้ คือถ้าหลุด ให้ขาย เพราะว่า macd ที่ ลงสวนราคาหรือที่เราเรียกว่า Bearish Divergence นี้แสดงให้เราเห็นว่า
คนในตลาด เขาซื้อกันหมดแล้ว ไอ้ที่ขึ้นมานี่ แมงเม่าเข้าทั้งนั้น ช่วงเวลาแบบนี้แหละ ที่ใครเข้าไปรับของมา เตรียมเป็นเม่าเฝ่าดอย กำลังซื้อไม่มี แต่ดันเข้าไปไล่ราคาเอา สุดท้ายแล้วจะขายให้ใคร ในเมื่อคนซื้อไม่ค่อยมีแล้ว ต้องคิดมากๆ หลังจากนี้ถ้าราคาถึงยอด แล้วลงมา แล้วเด้งไปไม่ถึงไฮเดิม ก็เตรียมล้างพอร์ท นั้นหมายถึง เราเข้าสู่เวฟที่ 1 ของขาลงแล้วครับ
ในทางกลับกันในขาลงเราก็ทำเช่นเดียวกันครับ เมื่อเราเจอเวฟ 1 ของขาลงแล้ว ก็ควรจะปล่อยออกหมด ระหว่างที่มันทำเวฟ 234 ก็ไปเล่นหุ้นตัวอื่นหรืออยู่เฉยๆ เมื่อราคาเข้า สู่ช่วงเวฟ 5 เราก็จะกลับมาจับตาว่า เกิดการขัดกันของราคาและ MACD หรือยัง ถ้าราคาลงเรื่อย หรือว่าเกาะเส้นแนวรับหลักสวยๆอยู่ และ MACD กลับวิ่งขึ้นสวน อันนี้คือสัญญานให้ระวังการกลับตัวแล้ว เราต้องกลับมาจับตามองโวลุ่ม ถ้าโวลุ่มเข้าเมื่อไหร่ก็กระโดดเข้าให้ทัน นั้นเอง
MACD ถ้าฝึกใช้ให้ถนัดให้ฉมัง บางคนแทบไม่ดูราคาหุ้นเลยครับ เอา MACD อย่างเดียว ก็หากินได้แล้ว มันเป็นเครื่องมือที่ดีมากในการดูว่า MOMENTUM เมื่อใช้ร่วมกับ Volume จะเห็นได้เลยว่าคนในตลาดคิดอะไรกันอยู่ มีมือมืดแอบขาย แอบซื้อไหม หลายๆคนถามว่า ไอ้เจ้าแอบขายแอบซื้อนี้มาจากไหน ก็จากตรงนี้แหละ การขัดแย้งกันของราคาและ MACD แล้วดันแอบมีโวลุ่มดุ่มๆขึ้นมาพอให้เนียน ๆลองไปหาดูหุ้นตัวอื่นๆ ดูด้วยนะครับ ช่วงก่อนจะเห็นเยอะมาก
หุ้นตัวไหน มีข่าวเกี่ยวกับงาน งบ หรือ ข่าวอะไรก็ตามที่มีลักษณะไม่ปัจจุบันทันด่วน คือมีคนรู้ก่อนออกแน่ๆ แล้วพอออกมาแล้วราคาพุ่ง ให้ลองไปดู MACD กับ Volume ก่อน วันพุ่งจะเห็น ชัดว่าพวกแอบซื้อแอบขาย เราจับมันได้ ไม่จำเป็นต้องไปรอฟังข่าว ที่เขา ประกาศออกมาเพื่อเชือดเราครับ
ตัวนี้ถือว่าเป็นตัวเอกที่ควรฝึกใช้ให้คล่อง ตัวเดียวก็หากินได้แล้วครับสำหรับ MACD Moving Average Convergence / Divergence
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น